สิวคือ ?

สิว นับเป็นตัวปัญหาใหญ่บนใบหน้าสวยๆ ของคุณผู้หญิงและคุณผู้ชายโดยเฉพาะวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว ส่วนใหญ่อาการของสิวจะไม่รุนแรงนัก แต่สิวในบางคนอาการจะรุนแรงและอักเสบมาก ที่สำคัญคือ เมื่อสิวหายไปแล้วยังคงทิ้งร่องรอยไว้ให้ดูต่างหน้า บ้างก็เป็นแผลเป็น รอยดำ รอยบุ๋ม หรือรอยนูน

เนื่องจากสิวเกิดจากการอักเสบของต่อมไขมัน (sebaceous) ทำให้เรามักจะพบสิวในบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น ใบหน้า หน้าอก หลังส่วนบน คอ ไหล่ หรือต้นแขน โดยจะพบสิวได้หลายระยะทั้งสิวอุดตัน เช่น สิวหัวเปิดสีดำ หรือสิวหัวปิด ซึ่งจะเห็นเป็นหัวขาว ๆ อยู่ใต้ผิวหนัง ต่อมาอาจจะกลายเป็นสิวอักเสบเห็นเป็นตุ่มแดง (papulonodular) ได้ บางคนถ้าการอักเสบมาก อาจพบเป็นตุ่มหนอง (pustule) หรือเป็นสิวอักเสบขนาดใหญ่ที่อยู่ลึกลงไปใต้ผิวหนังที่เรียกว่าสิวหัวช้าง (nodulocystic) ได้ด้วย

อาการของสิวจะแตกต่างกันไปตามชนิดและระยะของโรค ส่วนใหญ่จะเห็นเป็นตุ่มนูนขึ้นมาจากผิวหนัง จากการอุดตันของปากรูขุมขน (Comedone) เมื่อมีการอุดตันมากขึ้น รูขุมขนจะถูกขยายออก หรือเกิดเป็นถุง ก่อตัวขึ้นในรูขุมขน หากการอุดตันมีมากขึ้นเรื่อยๆ หรือถูกรบกวนจนผนังรูขุมขนเสียหาย สิ่งที่อยู่ภายในถุงนั้นจะปริเข้าสู่ชั้นลึกของผิวหนังและกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ภายนอกก็จะเห็นเป็นรอยแดง บางครั้งอาจมีหนองด้วย

และหากติดเชื้อในผิวหนังชั้นที่ลึกร่วมด้วยก็จะกลายเป็นก้อนสิวที่เป็นไตแข็งอักเสบอยู่ใต้ผิวหนังซึ่งรักษาได้ยากขึ้น

สิวเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยมาก ทั้งที่หน้าอก หลัง และใบหน้า หน้าเป็นสิวจึงเป็นเรื่องปกติที่พบได้ทั่วไป สิวสามารถพบได้มากถึง 85% ของประชากรที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ช่วงอายุ 12 – 25 ปี ส่วนในช่วงอายุอื่นๆ แม้กระทั่งทารกแรกเกิดก็สามารถพบสิวได้ และมักจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

สิวเกิดจากอะไร?

กระบวนการการเกิดสิวนั้นค่อนข้างซับซ้อน สาเหตุการเกิดสิวจึงมีหลายปัจจัยประกอบกัน ซึ่งเมื่อเป็นสิว ปัจจัยสาเหตุการเกิดสิวดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเพียงแค่อย่างเดียว หรือเกิดจากหลายๆอย่างร่วมกันก็ได้ โดยสิวนั้นเกิดจากปัจจัยของการเกิดสิว 4 ปัจจัย ดังนี้

1. เซลล์ในรูขุมขนเพิ่มจำนวนเซลล์มากเกินไป  (Follicularepidermalhyperproliferation)

เซลล์ที่อยู่ในรูขุมขนที่เรียกว่าเซลล์ keratinocyte จะผลัดตัวออกมาและหลุดออกจากรูขุมขนเป็นปกติเมื่อหมดอายุไข แต่ถ้า keratinocyte เพิ่มจำนวนเซลล์มากเกินไป จนเซลล์ตายและหลุดออกมามากกว่าปกติ อาจทำให้เซลล์ที่ต้องถูกผลัดออกนั้นเกาะตัวและสะสมกันอยู่ภายในรูขุมขน

เมื่อกลุ่มเซลล์ keratinocyte เกาะตัวรวมกันขวางรูขุมขนอยู่ จะทำให้สิ่งที่สร้างจากส่วนต่างๆ ในรูขุมขนหรือสิ่งที่มีอยู่ในรูขุมขนอยู่แล้ว อย่างเคราติน (keratin) น้ำมันจากต่อมไขมัน (Sebum) และแบคทีเรียสะสมจนเกาะตัวกันเป็นก้อน ทำให้ปากรูขุมขนหรือรูขุมขนส่วนบนขยายออก เกิดเป็นสิวอุดตันที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า หรือ “microcomedones”

เมื่อเคราติน น้ำมันจากต่อมไขมัน และแบคทีเรียสะสมรวมตัวกันเรื่อยๆ microcomedones จะใหญ่ขึ้นกลายเป็น comedones หรือที่เรียกว่า “สิวอุดตัน” นั่นเอง

2. ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากเกินไป (Sebum production)

ปกติแล้วต่อมไขมัน (sebaceous glands) มีหน้าที่ผลิตน้ำมัน (sebum) ออกมาเคลือบผิวหนังไว้ เป็นเกราะป้องกันผิวหนังและช่วยกักเก็บความชุ่มชื้น แต่หากต่อมไขมันผลิต sebum มากเกินไป จะทำให้เกิดสิวได้

ใน Sebum ประกอบด้วยไขมันหลายตัว โดยจะมีไตรกลีเซอไรด์ (triglycerides) เป็นหลัก ซึ่งไตรกลีเซอร์ไรด์บนผิว จะถูกแบคทีเรีย P.acne ย่อยให้กลายเป็นกรดไขมันอิสระ (free fatty acids) กรดไขมันอิสระดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้สภาพแวดล้อมของผิวคนเราเหมาะกับการอยู่อาศัยของแบคทีเรีย P.acne มากขึ้น

เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม P.acne จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดการกระตุ้นการอักเสบขึ้น เป็นสาเหตุให้เกิดสิวอุดตัน และสิวอักเสบได้ นอกจากนี้ การที่ sebum เพิ่มมากขึ้นยังทำให้กรดไลโนเลอิกปริมาณลดลง ส่งผลให้เกิดสิวได้มากกว่าเดิมด้วย

ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากเกินไป สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุหนึ่งที่สำคัญคือการกระตุ้นจากฮอร์โมนในกลุ่มฮอร์โมนแอนโดรเจน (androgen) ฮอร์โมนแอนโดรเจนนอกจากจะทำให้ Keratinocyte เพิ่มจำนวนแล้ว ยังทำให้เซลล์ต่อมไขมัน ( sebocyte )แบ่งตัวมากขึ้นเช่นกัน “sebocyte” เป็นเซลล์ที่อยู่ในต่อมไขมัน ทำหน้าที่ผลิต sebum และส่งออกมานอกผิวผ่านรูขุมขน เมื่อ sebocyte มีจำนวนเพิ่มขึ้น sebum ก็จะยิ่งถูกผลิตปริมาณมากยิ่งขึ้น ในที่สุดแล้วจะทำให้ผิวหนังอักเสบและเกิดเป็นสิวนั่นเอง

3. เชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium acne (P.ance)

P.acne (propionibacterium acnes) หรือชื่อใหม่เรียกกันว่า C.acne (Cutibacterium acnes) เป็นแบคทีเรียที่พบได้เป็นปกติบนผิวหนัง ในรูขุมขน และในต่อมไขมันของมนุษย์ P.acne เป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิวได้หากมีจำนวนมากเกินไป

ในอดีตการแพทย์เชื่อว่า P.acne เป็นปัจจัยหลัก และปัจจัยสำคัญที่สุดของการเกิดสิว ซึ่งในปัจจุบันที่มีการศึกษา ค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับสิวมากขึ้น ทำให้พบว่า P.acne เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดสิวโดยการกระตุ้นให้ผิวหนังอักเสบได้จากหลายๆทาง หากมีปริมาณเชื้อโรคมากเกินไป หรือไม่สมดุลกับเชื้อโรคประจำถิ่นตัวอื่นๆ อย่างที่พูดถึงไปในหัวข้อที่แล้ว ว่า P.acne สามารถย่อยสลายไตรกลีเซอไรด์ให้กลายเป็นกรดไขมันอิสระจนทำให้เกิดการอักเสบได้ แต่นอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว P.acne ยังสามารถทำให้เกิดการอักเสบได้อีก

แบคทีเรีย P.acne นี้ แม้จะเป็นเชื้อโรคประจำถิ่น อาศัยอยู่บนผิวหนังของคนเราตามปกติ แต่ก็เป็นเชื้อโรคที่เป็นสิ่งแปลกปลอม เมื่อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนัง หรือการเป็นสิวอุดตันที่ผนังรูขุมขนแตกออก ร่างกายจะพยายามต่อต้าน P.acne โดยระบบภูมิคุ้มกัน ด้วยการหลั่งสารต่างๆออกมาและทำให้เกิดการอักเสบ

โดยปกติแล้วร่างกายของเราจะจดจำ antibody ของแบคทีเรีย P.acne ได้ เนื่องจากเป็นเชื้อโรคที่มีโอกาสเข้าสู่ร่างกายได้บ่อย เมื่อ P.acne เข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะตอบสนองอย่างรวดเร็ว ทำให้อักเสบได้ง่าย

นอกจาก antibody ของ P.acne แล้ว ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายยังตอบสนองด้วยวิธีต่างๆอีกมากมาย เช่นหลั่งสาร Proinflammatory Cytokines, กำจัดแบคทีเรียด้วยเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ, สร้าง antimicrobial peptides, histone H4, และ cathelicidin ที่มีผลทำให้ผิวหนังอักเสบเพิ่มขึ้น

ที่ผนังเซลล์ของแบคทีเรีย P.acne เองก็ยังมี carbohydrate antigen อยู่ด้วย ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายสร้าง antibody ออกมามากกว่าเดิม ดังนั้นผู้ที่เป็นสิวจึงมักพบว่ามีจำนวนแบคทีเรีย P.acne มากกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นสิวในช่วงอายุเดียวกัน สภาพแวดล้อมคล้ายกัน แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้มีงานวิจัยยืนยันว่ายิ่งมีเชื้อจำนวนมาก จะทำให้สิวอักเสบรุนแรงมากขึ้นได้จริงหรือไม่

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ การมีอยู่ของ P.acne จึงมีผลอย่างมากกับการทำให้ผิวหนังอักเสบจนเกิดเป็นสิว หรือมีโอกาสทำให้เกิดสิวอักเสบหลังจากเป็นสิวอุดตันนั่นเอง

4. การอักเสบ และการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน (Inflammation and immune response)

การอักเสบเกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะตอบสนองด้วยการอักเสบ เพื่อป้องกัน และกำจัดสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นออกไปจากร่างกาย

ถ้าการอักเสบเกิดขึ้นที่ผิวหนังจะทำให้รู้สึกปวด ร้อน ผิวหนังบวม บริเวณที่อักเสบเห็นเป็นสีชมพูหรือสีแดง จากการมีเลือดคั่ง เนื่องจากสารต่างๆและเซลล์เม็ดเลือดขาวเดินทางมาที่บริเวณที่อักเสบผ่านทางระบบเลือด

เมื่อแบคทีเรียประจำถิ่นที่อยู่บนผิวหนังเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดการอักเสบขึ้น ไม่ใช่แค่ P.acne ตัวเดียวเท่านั้น แบคทีเรียตัวอื่นๆก็สามารถทำให้เกิดการอักเสบได้ทั้งสิ้น

แล้วแบคทีเรียดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร? เมื่อ Keratinocyte อุดตันที่รูขุมขนจนเกิดเป็น Microcomedone เคราติน น้ำมันจากต่อมไขมัน และแบคทีเรียจะสะสมรวมกันเกิดเป็นถุง cyst เมื่อถุงนี้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ หรือโดนรบกวนจนผนังรูขุมขนแตกออก จะทำให้แบคทีเรียที่อยู่บริเวณ cystic space เข้าสู่ร่างกายบริเวณเนื้อเยื่อผิวหนัง ร่างกายก็จะตอบสนองโดยการอักเสบเพื่อกำจัดแบคทีเรียดังกล่าวออกไป

การแพทย์ในอดีตเข้าใจว่า การอักเสบจะเกิดขึ้นหลังสิวอุดตันแตกออกเท่านั้น แต่ในปัจจุบันจากการตรวจชิ้นเนื้อของผู้ที่เป็นสิวง่าย พบว่าผิวหนังอักเสบก่อนเป็นสิวอุดตัน และหลังเป็นสิวอุดตันพบว่าผิวหนังอักเสบเพิ่มมากขึ้น

จากงานวิจัยนี้ แสดงให้เห็นว่าการอักเสบสามารถเกิดก่อนสิวอุดตันและเกิดหลังสิวอุดตันได้เช่นกัน และยังทำให้เห็นว่าการอักเสบกับสิวมีอิทธิพลที่ทำให้เกิดอีกอย่างหนึ่งขึ้นได้เช่นเดียวกัน

สาเหตุของการเกิดสิวทั้ง 4 สาเหตุนี้สามารถเกิดขึ้นได้เองทั้งจากกรรมพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย สภาพแวดล้อม หรืออาจเกิดจากพฤติกรรมการดูแลผิวหนัง การใช้ชีวิตประจำวัน การทานอาหาร และการใช้ยา ทั้งยาทาภายนอกและยาสำหรับรับประทานได้เช่นกัน

ดังนั้นแนวทางป้องกันสิวที่ดีคือล้างหน้าตามแนวรูขุมขน ให้สะอาดวันละ 2 ครั้ง ไม่มากไม่น้อยเกินไป ทานอาหารที่มีประโยชน์ครบห้าหมู่ ผ่อนคลายความเครียด ปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนเริ่มใช้ยาใดก็ตาม และเมื่อเริ่มเป็นสิวควรปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันการเป็นสิวอักเสบรุนแรงที่อาจนำไปสู่แผลเป็นเมื่อหายเป็นสิวได้

สิวมีกี่ประเภท

ประเภทของสิวสามารถแบ่งได้ 2 แบบ คือแบ่งตามความรุนแรง และแบ่งตามลักษณะสิว

หากแบ่งตามความรุนแรงจะสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่

  1. สิวเล็กน้อย หรือสิวไม่รุนแรง (mild acne) คือเป็นสิวอุดตันที่ไม่มีอาการอักเสบ ได้แก่สิวอุดตันหัวเปิด และสิวอุดตันนหัวปิด หรือเป็นสิวอักเสบในผิวหนังชั้นตื้นๆ อย่างสิวตุ่มแดง (Papule) และสิวหัวหนอง (Pustule) จำนวนเล็กน้อย
  2. สิวปานกลาง (moderate acne) คือเป็นสิวตุ่มแดง (Papule) และสิวหัวหนอง (Pustule) จำนวนปานกลาง หรือเป็นสิวอักเสบลึกอย่าง nodular acne จำนวนเล็กน้อย
  3. สิวรุนแรง (severe acne) คือเป็นสิวตุ่มแดง (Papule) และสิวหัวหนอง (Pustule) จำนวนมาก เป็นสิวแบบ nodular acne จำนวนมาก เป็นเรื้อรัง หรือสิวอักเสบขั้นรุนแรง severe nodular acne อย่าง acne conglobata หรือ acne fulminans

    หากแบ่งตามลักษณะสิวจะสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบใหญ่ๆ ได้แก่สิวไม่อักเสบ และสิวอักเสบ

    สิวไม่อักเสบ คือสิวอุดตัน ประกอบด้วยสิวหัวเปิด และสิวหัวปิด ส่วนสิวอักเสบจะประกอบด้วยสิวตุ่มแดง (Papule), สิวหัวหนอง (Pustule), สิวหัวช้าง และสิวก้อนกลมอักเสบรุนแรง (severe nodular acne)

สิวไม่อักเสบ

สิวไม่อักเสบ คือสิวที่เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน แต่ไม่มีอาการอักเสบร่วมด้วย โดยสิวไม่อักเสบ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่

  • สิวอุดตัน (Comedones)

สิวอุดตัน (Comedones) เป็นสิวที่เกิดขึ้นหลังจากเกิด microcomedone เมื่อเคราติน เซลล์ผิวหนังที่ถูกผลัดออก ไขมัน และแบคทีเรียก่อตัวกันจะทำให้ microcomedone กลายเป็น comedones ในที่สุด

สิวอุดตันมีด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่สิวหัวปิด (Closed Comedone) หรือสิวหัวขาว (Whiteheads) และสิวหัวเปิด (Open Comedone) หรือสิวหัวดำ(Blackheads)

  • สิวหัวปิด (Closed Comedone) – เป็นสิวอุดตันที่มองเห็นได้ยาก ลักษณะเป็นตุ่มนูนขนาดเล็ก มีสีขาว สีครีม หรือเป็นสีเดียวกับผิวหนัง จึงเรียกกันว่าเป็นสิวหัวขาว (Whiteheads) เป็นสิวที่พัฒนาอยู่ใต้ผิวหนัง รักษาได้ยากกว่าสิวหัวเปิด แต่ก็รักษาได้ง่ายกว่าสิวอักเสบ หากปล่อยไว้ไม่รักษา สิวอาจใหญ่ขึ้นจนผนังรูขุมขนแตกออก ทำให้เกิดการติดเชื้อจนกลายเป็นสิวอักเสบแบบต่างๆได้
  • สิวหัวเปิด (Open Comedone) – เป็นสิวอุดตันที่สามารถมองเห็นก้อนเคราติน ไขมัน และแบคทีเรียที่สะสมอยู่ในสิวได้จากภายนอก มีลักษณะเป็นหัวแบนเรียบ หรือโผล่พ้นผิวหนังขึ้นมาเล็กน้อย บางครั้งหัวสิวจะทำปฏิกิริยา oxidation กับอากาศจนเกิดเป็นสีดำ จึงเรียกสิวแบบนี้กันว่าสิวหัวดำ(Blackheads)

สิวอุดตันตามปกติจะรักษาด้วยการใช้ยาทาภายนอก ไม่ได้จำเป็นต้องใช้ยาทานเพื่อปรับฮอร์โมนหรือส่งผลต่อระบบร่างกายอื่นๆแต่อย่างใด โดยยาทาจะนิยมใช้ retinoid, benzoyl peroxide, หรือยาสูตรผสมอื่นๆ ถ้าเป็นสิวอุดตันจำนวนมาก แพทย์อาจจะให้ใช้ azelaic acid หรือ salicylic acid ที่ช่วยในเรื่องการผลัดเซลล์ผิวด้วย

ส่วนหัตถการที่นิยมใช้กันมากคือการกดสิว สามารถทำได้ในสิวหัวเปิด ส่วนสิวหัวปิด ต้องเลือกเป็นกรณีไป แต่การกดสิวต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่ควรทำเองที่บ้าน เนื่องจากอาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อ เกิดการอักเสบ หรือเกิดรอยแผลเป็นหลังจากกดสิวได้

สิวอุดตันมักถูกสับสนกับโรคผิวหนังอื่นๆ อย่างเช่นสิวผด และสิวหิน ซึ่งสิวดังกล่าวไม่ใช่สิว เป็นเพียงความผิดปกติของผิวหนังที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นสิวเท่านั้น

สิวผด (Acne aestivalis หรือ acne mallorca) ไม่ได้เกิดจากการอุดตันหรือการอักเสบเหมือนอย่างสิว เป็นการบวมของรูเปิดต่อมเหงื่อ เป็นหนึ่งในผื่นหลากหลายรูปแบบที่เกิดจากแสงแดด (polymorphous light eruption) โดยสิวผดนี้จะเกิดจากการกระตุ้นของ UVA ทำให้เกิดรอยผดเป็นตุ่มเล็กๆ คล้ายกับสิวอุดตันหัวปิด บางครั้งเป็นตุ่มแดงคล้ายกับสิวอักเสบ

สิวผดพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่มีอายุระหว่าง 20 – 40 ปี โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีประวัติเคยเป็นสิวมากก่อน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเฉพาะในฤดูที่แดดแรง เช่นฤดูร้อน หรือฤดูใบไม้ผลิในต่างประเทศ เมื่อเข้าฤดูฝนอาการของโรคจะหายไปเองโดยไม่ต้องรักษา

ส่วนสิวหิน หรือ Syringoma จริงๆแล้วเป็นเนื้องอกชนิดดี ของต่อมเหงื่อ

มักเป็นตุ่มสีเนื้อ แข็งๆ กดไม่ออก มักอยู่บริเวณรอบๆตา

สิวเม็ดข้าวสาร (Milia หรือ Milium Cysts) ในไทยจะเรียกว่าเป็นสิว แต่บางครั้งก็จะนับเป็นซีสต์ชนิดหนึ่ง จะมีลักษณะเป็นก้อนเม็ดเล็กๆ สีขาว มักจะขึ้นอยู่ใกล้ดวงตา แก้ม หรือจมูก ก้อนสิวจะเป็นตุ่มนูนขนาดเล็ก สีเดียวกับผิวหนัง และจะแข็งเป็นก้อน

สิวอักเสบ

สิวอักเสบ ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Inflamed acne หรือ Inflammatory acne” คือสิวที่มีอาการอักเสบบริเวณผิวหนังหรือต่อมไขมันร่วมด้วย จากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งสิวอักเสบ มีหลายชนิด แบ่งออกตามระยะอาการ และความลึกของการอักเสบ ดังนี้

  • สิวตุ่มแดง (Papule)

สิวตุ่มแดง (Papule) คือสิวอักเสบที่พัฒนามาจากสิวอุดตันแบบต่างๆ มีอาการอักเสบบนผิวหนังตื้นๆ ยังไม่ทำให้เกิดหนอง หรือการอักเสบในผิวหนังชั้นที่อยู่ลึกลงไป ลักษณะสิวตุ่มแดงจะเป็นตุ่มสิวอักเสบเม็ดเล็กๆ สีแดง และทำให้รู้สึกเจ็บเล็กน้อยเมื่อสัมผัสโดนสิว

สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาทาภายนอก ร่วมกับยาปฏิชีวนะแบบทาน หรือร่วมกับยาคุมกำเนิดในเพศหญิง

  • สิวหัวหนอง (Pustule)

สิวหัวหนอง (Pustule) เป็นสิวขนาดเล็ก ลักษณะสิวจะมีจุดสีขาวเหลืองอยู่ตรงกลางซึ่งก็คือหนองที่เป็นผลมาจากการอักเสบ ส่วนรอบๆจะเป็นสีแดง เมื่อจับจะรู้สึกเจ็บ เป็นสิวที่พัฒนามาจากสิวอุดตันเช่นกัน แต่จะมีระดับการอักเสบที่มากกว่าสิวตุ่มแดง

สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาทาภายนอก ร่วมกับยาปฏิชีวนะแบบทาน หรือร่วมกับยาคุมกำเนิดในเพศหญิงเช่นเดียวกับสิวตุ่มแดง

  • สิวหัวช้าง

สิวหัวช้าง (Nodule) คือสิวอักเสบที่การอักเสบลุกลามจนเข้าไปถึงชั้นผิวหนังด้านใน ทำให้เป็นก้อนตุ่มนูนขนาดใหญ่สีชมพูที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า บางครั้งจึงเรียกว่าสิวตุ่มนูนขนาดใหญ่

สิวแบบนี้เวลาเป็นจะเจ็บมาก เมื่อกดจะรู้สึกว่าจะเป็นไต ไม่สามารถรักษาด้วยการกดสิวได้ บางครั้งจึงเรียกว่าสิวไต หรือ สิวไม่มีหัว ทั้งยังทำให้อาการอักเสบลุกลามมากขึ้น สิวเม็ดใหญ่และอักเสบมากกว่าเดิม

สิวหัวช้าง รักษาได้ยากกว่าสิวที่เกิดจากการอักเสบตื้นอย่างสิวตุ่มแดงหรือสิวหัวหนอง มักรักษาโดยใช้ยาทาภายนอกร่วมกับยาทานอาจจะใช้ยาคุมกำเนิด ยาปฏิชีวนะ หรือยาทาน isotretinoin แล้วแต่แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม

บริเวณที่มักเกิดสิว

สิวเกิดขึ้นได้มากที่สุดบริเวณใบหน้า และสามารถเกิดได้ในบริเวณลำตัวช่วงบนด้วย อย่างบริเวณอกและหลัง โดยเฉพาะบริเวณเส้นกึ่งกลางลำตัว อย่างหน้าผาก จมูก และคาง ซึ่งสิวแต่ละที่ก็มีสาเหตุการเกิดส่วนใหญ่ที่แตกต่างกันไป ดังนี้

สิวที่คาง

สิวที่คาง มักจะเกิดมากกว่าที่อื่นๆ เนื่องจากเป็นบริเวณที่อยู่ในเส้นกึ่งกลาง และเป็นบริเวณบนใบหน้าที่จะผลิตน้ำมันออกมามากกว่าปกติในผู้ที่มีผิวผสม ทำให้เมื่อต่อมไขมันทำงานมากกว่าปกติ สิวจึงมักจะเกิดขึ้นที่คางก่อน สิวรอบปากรอบคาง มักสัมพันธ์กับฮอร์โมน และการรับประทานอาหารที่มีนม หรือผลิตภัณฑ์จากนม

นอกจากนี้สิวที่คางยังเกิดจากสิ่งสกปรกได้มากเนื่องจากคางเป็นตำแหน่งบนใบหน้าที่คนเรามักจับเล่นโดยไม่รู้ตัวเช่นเวลาเท้าคาง อีกทั้งคางยังเป็นตำแหน่งที่สัมผัสกับหน้ากากอนามัยโดยตรง เมื่อจำเป็นต้องใส่หน้ากากบ่อยๆจะทำให้ มีการเสียดสี สิ่งสกปรกสะสมจนรูขุมขนอุดตัน หรือติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย ทำให้เป็นสิวในที่สุด

สิวที่หน้าผาก

สิวที่หน้าผาก เป็นบริเวณที่มักเกิดสิวก่อนส่วนอื่นๆเช่นเดียวกับคาง เพราะอยู่ในบริเวณเส้นกึ่งกลางใบหน้าและผลิตน้ำมันออกมามากกว่าผิวส่วนอื่นๆ นอกจากเรื่องความมันแล้วหน้าผากก็เป็นบริเวณที่สัมผัสกับสิ่งสกปรกมาก เนื่องจากเป็นจุดที่มีเหงื่อเยอะ สิวที่หน้าผากมักสัมพันธ์กับความเครียด การอดนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ

อีกทั้งยังเป็นจุดที่ถ้าไว้ผมหน้าม้า ใส่หมวก หรือใส่ผ้าคาดศีรษะ ก็จะทำให้สิ่งสกปรก อย่างเหงื่อไคลและมลภาวะสะสมอยู่ที่หน้าผากมากขึ้น ทำให้เกิดสิวได้ง่ายกว่าบริเวณอื่นๆ

สิวที่จมูก

จมูกก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่อยู่เส้นกึ่งกลาง ทำให้ สิวที่จมูก สามารถเกิดขึ้นได้มากกว่าส่วนอื่นๆ และเกิดความมันได้เหมือนกับสิวที่คางและที่หน้าผาก

สิวที่จมูกส่วนใหญ่จะเป็นสิวอุดตันชนิดหัวเปิด และสิวเสี้ยน (Trichostasis Spinulosa) ซึ่งสิวเสี้ยนนี้ไม่ใช่สิว แต่เป็นขนและรากขน ที่ในรูขุมขนนั้นมีขนขึ้นหลายเส้น และจับตัวกับ sebum รวมถึงสิ่งสกปรกและเซลล์ที่ตายแล้ว จนเกิดเป็นก้อนคล้ายสิวอยู่รอบๆเส้นขนเหล่านั้นอีกทีหนึ่ง

สิวที่แก้ม

สิวที่แก้ม มักจะเกิดจาก การล้างหน้าไม่สะอาด และสิ่งสกปรกเป็นหลัก เนื่องจากแก้มเป็นบริเวณที่ต้องสัมผัสกับหลายสิ่ง ทั้งสัมผัสกับหมอนเวลานอน สัมผัสกับเส้นผม กรอบแว่น หรือสัมผัสกับโทรศัพท์ที่เป็นแหล่งรวมสิ่งสกปรกและเชื้อโรคต่างๆด้วย สิวที่แก้มสามารถเกิดจากความน้ำมัน หรือการผลัดเซลล์ผิวที่ผิดปกติได้เช่นกัน

สิวที่ปาก

สิวที่ปาก มักจะอยู่บริเวณรอบๆริมฝีปาก เกิดจากสิ่งสกปรกได้มากเหมือนกันกับสิวที่แก้ม เพราะปากเป็นบริเวณที่เราใช้ทานข้าว เมื่ออาหารสัมผัสรอบๆปาก ก็อาจทำให้เกิดสิวได้หากรักษาความสะอาดได้ไม่ดีพอ

นอกจากนี้สิวที่ปากยังสามารถเกิดจากการแพ้ผลิตภัณฑ์ต่างๆได้ด้วย ทั้งยาสีฟัน ลิปสติก หรือน้ำยาบ้วนปาก บางครั้งก็อาจเกิดจากการใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานานได้เช่นกัน

สิวที่คอ

สิวที่คอ เป็นปัญหาที่มักเกิดจากเส้นผมเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นบริเวณที่สิ่งสกปรกจากเส้นผมและหนังศีรษะไหลมาสะสมอยู่ หากไว้ผมยาว ชอบปล่อยผม เส้นผมจะทำให้ผิวหนังอับ จนเหงื่อไคลสะสมและเกิดเป็นสิวขึ้นมา นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการแพ้ยาสระผม หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเส้นผมและหนังศีรษะอื่นๆ ด้วย

สิวที่หลัง

สิวที่หลัง สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ บริเวณหลังก็เป็นอีกบริเวณหนึ่งที่อยู่ในแนวเส้นกึ่งกลาง สามารถเกิดสิวได้มากจากหลายสาเหตุ ทั้งความมัน การผลัดเซลล์ผิวที่ผิดปกติ เชื้อแบคทีเรีย และการอักเสบของผิวหนัง

สิวที่หลังเกิดจากเชื้อยีสต์หรือเชื้อราตัวเล็กๆได้มาก เนื่องจากเป็นที่ที่อยู่ในร่มผ้าตลอดเวลา บางครั้งเหงื่อไคล รวมถึงสิ่งสกปรก น้ำมันบนผิวหนัง ส่งเสริมให้สภาพแวดล้อมของผิวเหมาะกับการอยู่อาศัยของยีสต์เหล่านี้มากขึ้น ยิ่งคนที่อยู่ในที่ร้อน หรือสะพายเป้ติดหลังอยู่ตลอดเวลา จะยิ่งเกิดสิวที่หลังได้ง่ายมาก

นอกเหนือจากเหตุผลเหล่านี้ ตำแหน่งการเกิดสิวในที่ต่างๆสามารถเกิดจากกรรมพันธุ์ได้เช่นกัน เนื่องจากบริเวณที่ต่อมไขมันสร้างน้ำมันมาก การตอบสนองต่อฮอร์โมน ลักษณะการผลัดเซลล์ผิวในแต่ละบริเวณ สามารถกำหนดได้โดยลักษณะทางกรรมพันธุ์ทั้งหมด

กดสิว เป็นอย่างไร ?

การกดสิวเป็นการบีบผิวบริเวณที่เป็นแล้วใช้เข็มหรืออุปกรณ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อเจาะผิวหนังให้หนอง ของเหลว หรือสิ่งที่อุดตันอยู่ภายในสิวไหลออกมา แม้ทำให้สิวหาย แต่การกดสิวอาจเสี่ยงทำให้สิ่งสกปรกและแบคทีเรียซึมลึกสู่ผิวหนัง เพราะแบคทีเรียจากของเหลวในสิวอาจกระเด็นไปสัมผัสผิวหน้าส่วนอื่น จนทำให้ผิวบริเวณนั้นเกิดสิวขึ้นได้ หรืออาจมีแบคทีเรียสะสมที่มือแล้วนำมือไปสัมผัสใบหน้า จนเป็นเหตุให้สิวเกิดการอักเสบรุนแรง มีอาการบวมแดง ติดเชื้อ และอาจเป็นรอยแผลลึกที่รักษาได้ยาก

กดสิว เหมาะกับสิวประเภทใด ?

การกดสิวจะมีประสิทธิภาพดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับชนิดของสิวด้วย ส่วนใหญ่การกดสิวจะได้ผลดีกับสิวอุดตันมากที่สุด ทั้งสิวหัวดำและสิวหัวขาว ซึ่งสิวเหล่านี้จะอุดตันบนใบหน้า ทำให้ผิวหน้าขรุขระไม่เรียบเนียน

อย่างไรก็ตาม แพทย์ผิวหนังจะกดสิวต่อเมื่อรักษาสิวด้วยวิธีอื่น เช่น การรับประทานยา หรือการใช้ยาแต้มสิวแล้วรักษาไม่ได้ผล โดยแพทย์จะหลีกเลี่ยงการกดสิวอักเสบ เช่น สิวมีหนอง สิวผด หรือสิวอุดตันที่อยู่ใกล้สิวอักเสบ รวมถึงอาจหลีกเลี่ยงการกดสิวให้กับผู้สูงอายุ และผู้ที่ใช้ยาทาสิวที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์

กดสิวโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

แพทย์ผิวหนังหรือผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดีจะสามารถกดสิวได้อย่างถูกวิธีและปลอดภัย โดยในขั้นตอนของการกดสิว ผู้เชี่ยวชาญจะสวมถุงมืออนามัยเพื่อป้องกันแบคทีเรียที่สะสมอยู่บนฝ่ามือสัมผัสกับใบหน้า จากนั้นจึงใช้นิ้วบีบผิวบริเวณที่เป็นสิวขึ้นมา ใช้เข็มที่ผ่านการฆ่าเชื้อเจาะหัวสิวให้เปิด แล้วใช้เครื่องมือกดสิวกดลงบนบริเวณที่เป็นสิวเบา ๆ เพื่อให้หัวสิวและของเหลวภายในสิวหลุดออกมา

ข้อดีและข้อเสียของการกดสิว

โดยปกติแล้ว การกดสิวจะปลอดภัยหากทำอย่างถูกวิธีโดยแพทย์ผิวหนังหรือผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดี ทำในสถานที่ที่สะอาด และใช้เครื่องมือที่เหมาะสม ซึ่งการรักษาสิวด้วยวิธีนี้จะช่วยกำจัดสิวอุดตันให้หายเร็วขึ้น และช่วยป้องกันการเกิดสิวใหม่หากใช้วิธีอื่น ๆ ในการดูแลผิวหน้าร่วมด้วย เช่น การล้างหน้าและดูแลผิวหน้าให้สะอาดอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม การกดสิวที่ไม่ถูกวิธี ไม่รักษาความสะอาดให้ดี รวมถึงการแกะหรือบีบสิวอาจทำให้ปัญหาสิวแย่ลง อาจเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียจนเกิดการอักเสบ และอาจเกิดรอยแผลเป็นจากสิวได้ ดังนั้น หากต้องการกดสิว ทางที่ดีที่สุด คือ ไปพบแพทย์ผิวหนังหรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการเกิดปัญหาผิวหนังต่าง ๆ ตามมา

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสิว

สิวประจำเดือนเกิดจากอะไร รักษายังไง?

ทานยาคุมป้องกันสิวได้จริงไหม ?

ขั้นตอนการรักษาสิวที่ BoNTCARE CLINIC