แสงแดดอันตรายที่คาดไม่ถึง

ประเทศไทยมี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูร้อนมาก และ ฤดูร้อนมากๆ

ยิ่งช่วงนี้อุณหภูมิสูงถึงเกือบ 40 องศา แสงแดดที่แรงขนาดนี้ ก็อาจทำให้เกิดโรคที่ผิวหนังได้นะคะ

วันนี้ BoNTCARE CLINIC จึงมีบทความเกี่ยวกับโรคผิวหนังที่เกิดจากแสงแดดมาฝากทุกท่านกันค่ะ

 

ทำไมแสงแดดถึงเป็นอันตราย?

แสงแดดประกอบด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet) หรือรังสียูวี (UV) ที่ทำให้คอลลาเจนที่เป็นเนื้อเยื่อของผิวเสื่อมสภาพ และเกิดสารอนุมูลอิสระ ที่ทำลายเซลล์ผิวรอบๆ ส่งผลในระยะยาวให้เกิดเป็นมะเร็งผิวหนังได้

รังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet) หรือรังสียูวี (UV) มี 3 ชนิด

รังสียูวีเอ (UVA)

คือ รังสีอัลตราไวโอเลตที่มีความยาวคลื่น 320-400 นาโนเมตร สามารถทะลุไปถึงชั้นผิวหนังกำพร้า และชั้นหนังแท้ได้
ในระยะยาว การได้รับรังสี UVA มากๆ จะทำให้เกิดอนุมูลอิสระในผิวหนัง ทำลายความยืดหยุ่นของเซลล์ ส่งผลให้ผิวหนังเหี่ยวย่น เกิดริ้วรอยก่อนวัย มีฝ้าและกระ ผิวขาดความสดใส

รังสียูวีบี (UVB)

คือ รังสีอัลตราไวโอเลตที่มีความยาวคลื่น 290-300 นาโนเมตร รังสี UVB ไม่สามารถทะลุสู่ชั้นผิวหนังที่ลึกได้ แต่สามารถทำให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้น เกิดอาการแสบร้อน แดง และไหม้เกรียม (sunburn)

รังสียูวีซี (UVC)

 เป็นแสงในช่วงความยาวคลื่น ที่ก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง แต่ในชั้นบรรยากาศโลก มีชั้นโอโซนซึ่งสามารถป้องกันรังสี UVC ได้
ปัจจุบันจึงมีการรณรงค์ห้ามใช้สารเคมีบางอย่างที่สร้างมลพิษกับสิ่งแวดล้อมจนไปทำลายชั้นโอโซนให้บางลง ซึ่งจะมีผลเสียต่อสิ่งมีชีวิต

โรคที่เกิดจากแสงแดด

  • ฝ้า (melasma)

เกิดจากการถูกแสงแดดเป็นระยะเวลานาน จนเกิดการทำลายคอลลาเจนใน ผิวชั้นลึก ผิวจึงต้องช่วยตัวเองด้วยการที่เซลล์สร้างเม็ดสี (melanocyte) ต้องผลิตเม็ดสีเมลานินขึ้นปกคลุมผิว ทำให้เกิดแผ่นสีน้ำตาลที่ใบหน้าโดยเฉพาะที่บริเวณแก้ม จมูก หน้าผาก คาง บริเวณที่ถูกแสงแดด มักจะพบในผู้หญิงวัยกลางคนขึ้นไป

  • โรคมะเร็งผิวหนัง (Skin Cancer)

แสง UV จะเข้าไปมีผล เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของ DNA (Genotoxic) ทำให้เซลล์ ผิวปกติทำงานผิดปกติ มีการแบ่งตัวเร็วขึ้น และถ้าไม่หลีกเลี่ยงแสงแดด จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งผิวหนังมากขึ้น

  • โรคต้อเนื้อ (Pterygium)

เกิดจากการที่เยื่อบุตาสัมผัสกับแสงแดดเป็นระยะเวลานาน จนทำให้เนื้อเยื่อเปลี่ยนสภาพเป็นเนื้อรูปสามเหลี่ยมสีแดงยื่นเข้าไปในตาดำ จนมีผลต่อการมองเห็น

  • โรคลมแดด (Heat Stroke)

ปกติร่างกายเมื่อได้รับความร้อน จะลดอุณหภูมิในร่างกาย ด้วย การขับเหงื่อออก
ในกรณีที่ร่างกายขาดน้ำ และอยู่ในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงเป็นเวลานาน ร่างกายไม่สามารถ ลดอุณหภูมิในร่างกายได้ทัน จนเกิดมีอาการเสียน้ำมาก ชีพจรเต้นผิดปกติ เป็นลมหมดสติ จนถึงเสียชีวิตได้

วิธีป้องกันอันตรายจากแสงแดด

  • หลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลา 10.00-16.00 น. เป็นเวลานาน เนื่องจากเป็นช่วงที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังมากที่สุด
  • หากต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง ควรสวมเสื้อผ้าที่มีความหนา สีเข้ม และมิดชิด รวมทั้งสวมหมวก และกลางร่ม
  • ควรทาครีมกันแดดในปริมาณที่เหมาะสม (2 ม.ก./1ตร.ซม.ของผิวหนัง) ก่อนออกแดด 15-30 นาที และทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง และควรเลือกครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม การได้สัมผัสแสงแดดอ่อนๆในยามเช้า เป็นเวลา 10-15 นาที หรือสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง มีประโยชน์เพราะแสงแดดช่วยเพิ่มวิตามินดี ทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่กระแสเลือด เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงนะคะ