รูขุมขนอักเสบ

รูขุมขนอักเสบมีลักษณะ คล้ายสิว มักเกิดบริเวณหน้าอก แผ่นหลัง ไหล่ คอ และใบหน้า ลักษณะเป็นผื่นเม็ดเล็กๆ มักมีอาการคัน

รูขุมขนอักเสบ ต่อมขนอักเสบ หรือ ปุ่มรากผมอักเสบ (Folliculitis) สามารถเป็นไปได้ทั้งจากการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราในบริเวณรูขุมขน หรืออาจเกิดจากการอุดตันของรูขุมขนสืบเนื่องมาจากการกำจัดขน รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวบางชนิด จนทำให้เกิดการระคายเคืองและอุดตันที่รูขุมขน ส่งผลให้รูขุมขนแดง นูน เป็นตุ่มหนอง หรืออาจมีอาการคันร่วมด้วย ซึ่งภาวะรูขุมขนอักเสบ อาจมีลักษณะอาการที่คล้ายคลึงกับสิว เช่น มีผื่นสีแดงขึ้นเป็นกระจุก มีตุ่มหนอง แผลพุพอง ผิวแดงเป็นปื้นคลายกับผิวไหม้แดด  ในบางรายอาจมีตุ่มหนองขนาดใหญ่ หรืออาจมีอาการคันบริเวณรูขุมขนอักเสบ ผิวเริ่มบาง และบางครั้งอาจมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย จะว่าไปแล้ว “รูขุมขนอักเสบ” เป็นโรคผิวหนัง ที่พบได้บ่อยทั้งชายและหญิง ทุกเพศ ทุกวัย

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง

  • ผู้ที่มีผิวมัน เหงื่อออกง่าย
  • อยู่สภาพอากาศร้อนและอับชื้น
  • รูขุมขนอุดตันจากการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว
  • ผู้ที่ใช้ยาปฎิชีวนะเป็นเวลานาน (ทั้งทานและทา)
  • หากเชื้อเจริญเติบโตมากเป็นสาเหตุเกิดโรคผิวหนังอื่น เช่น เกลื้อน โรครังแคอักเสบ

อาการ

  • มีลักษณะเป็นตุ่มสีแดงขนาดเล็กบริเวณรูขุมขน มักพบกระจายหลายตุ่ม มีเส้นขนอยู่ตรงกลางตุ่ม หรือเป็นสิวหัวขาวขึ้นตามผิวหนัง
  • อาจมีหนองตามบริเวณรูขุมขนหรือในตุ่มเล็กๆที่กระจายอยู่นั้น
  • อาจมีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน มีอาการกดเจ็บ หรือมีตุ่มบวมขนาดใหญ่
  • สามารถพบตุ่มเหล่านี้ได้ทุกที่ที่มีรูขุมขน เช่น หนังศีรษะ บริเวณที่มีหนวด แผ่นอก แผ่นหลัง แขน ขา และที่อวัยวะเพศ

การรักษา

ต้องใช้ทั้งยาทานและยาทาร่วมกัน เวลารักษาประมาณ 1-2 เดือน แต่เกิดเป็นซ้ำได้

ภาวะแทรกซ้อนของรูขุมขนอักเสบ

โดยปกติทั่วไป ภาวะรูขุมขนอักเสบมักจะเกิดขึ้นและหายไปได้เองและไม่มีอาการที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตมากนัก แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นความผิดปกติเกิดขึ้นมาได้ ดังต่อไปนี้

  • เกิดรอยด่างที่ผิวหนัง
    รอยด่างที่เกิดขึ้น มีที่มาจากอาการอักเสบที่ผิวหนัง มักมีสีเข้มหรือสีอ่อนกว่าสีผิวปกติ
  • เส้นขนหลุดร่วงถาวร
    เป็นผลพวงที่เกิดจากรูขุมขนเกิดความเสียหาย
  • เกิดรอยแผลเป็น

    เกิดจากการอักเสบของรูขุมขนในระดับที่ลึกลงไป หรือมีการเกาผิวหนังในบริเวณที่มีปัญหาอย่างรุนแรง จนทำให้เกิดแผลเป็นได้

  • เกิดฝีหรือซีสต์ใต้ผิวหนัง
    เมื่อมีการอักเสบของตุ่มบริเวณผิวหนังมากขึ้น ก็สามารถขยายตัวจนกลายเป็นฝีหรือซีสต์ที่สร้างความเจ็บปวดจนต้องผ่าตัดเพื่อระบายหนองออกมา
  • เซลล์เนื้อเยื่อผิวหนังอักเสบ
    เป็นการอักเสบในเซลล์ผิวหนังระดับลึก พบได้ไม่บ่อยนัก

การป้องกันรูขุมขนอักเสบ

  • หลังออกกำลังกาย หรือหลังจากทำงานที่เสี่ยงต่อการสัมผัสกับสารเคมี ให้อาบน้ำทุกครั้ง
  • อาบน้ำทุกวันด้วยสบู่อ่อนๆ เพื่อป้องกันการระคายเคืองจากสารเคมีที่อยู่ในผลิตภัณฑ์อาบน้ำ
  • งดใช้ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้าหรือเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  • ไม่ใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นมากเกินไป รวมถึงเสื้อผ้าที่มีเนื้อหยาบเกินไป เพราะเสื้อผ้าในลักษณะนั้น มักจะเสียดสีกับผิวหนัง อาจจะทำให้เกิดการระคายเคือง และโดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อนอบอ้าว อาจทำให้มีเหงื่อออกมามาก จนเกิดความชื้นสะสมที่รูขุมขนและส่งผลให้รูขุมขนอักเสบได้ในที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการทาน้ำมันลงบนผิวหนังเพราะน้ำมันเป็นตัวที่สามารถดักจับเชื้อแบคทีเรียให้เข้าสู่ภายในรูขุมขนได้
  • ในการโกนขนหรือนวดเครา ให้โกนไปตามทิศทางของขน หรืออาจจะใช้มีดโกนไฟฟ้าเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดขนคุด ไม่ควรโดนขนชิดกับผิวมากจนเกินไป และให้ดูแลความสะอาดของมีดโกนด้วย โดยอาจจะแช่มีดโกนในแอลกอฮอล์  70% เป็นเวลา 1 ชม.ทุกวัน เพื่อลดการเติบโตของแบคทีเรียรวมถึงการเปลี่ยนใบมีดโกนที่ใช้ในการโกนขนเป็นประจำ ในกรณีที่แว๊กซ์ขน ควรเลือกใช้แว๊กซ์ที่เหมาะกับแต่ละบริเวณของผิว และควรจะโกนขนหรือแว๊กซ์ขนหลังการอาบน้ำ เพราะเป็นช่วงที่ขนมีความอ่อนนุ่ม
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวให้เหมาะสมกับสภาพผิว ซึ่งควรจะตรวจสอบว่าในผลิตภัณฑ์ต่างๆเหล่านั้นไม่มีสารที่เพิ่มการอุดตันในรูขุมขน เพราะถ้าหากผิวหนังอุดตัน อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อและทำให้เกิดรูขุมขนอักเสบตามมาได้
  • ตัดเล็บให้สั้น ไม่เกา แกะ แคะที่ผิวหนัง ซึ่งอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บและรอยถลอก
  • หมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์ที่เป็นแหล่งสะสมและเพาะเชื้อโรคต่างๆ เช่น อ่างอาบน้ำหรืออุปกรณ์กีฬา ควรทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเป็นประจำ

โรครูขุมขนอักเสบ’ ลักษณะคล้ายสิวมาก จึงควรได้รับการตรวจและวินิจฉัยโดยแพทย์ผิวหนังที่มีประสบการณ์ ในการซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อรักษาและให้ยาอย่างถูกต้อง 

การวินิจฉัยผิด หรือทานยาเอง นอกจากจะไม่หายแล้วอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากยา